กองอาคารสถานที่ เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มีหน้าที่รับผิดชอบการวางระบบงาน การตรวจและซ่อมบำรุงรักษาอาคารสถานที่ ระบบอาคาร ระบบสาธารณูปโภค ตลอดจนพัสดุภัณฑ์ของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง งานการจัดสวน จัดสถานที่ และการให้บริการ การเคลื่อนย้ายสิ่งของต่างๆ การทำนุบำรุงและรักษาความสะอาด ทั้งภายในและภายนอกอาคารสถานที่ เพื่อให้บริเวณทั่วๆ ไปของมหาวิทยาลัย ให้มีความเขียว สะอาด สวยงาม เป็นระเบียบ มีต้นไม้ ร่มไม้ ไม้ดอกไม้ประดับที่เหมาะสม และสร้างบรรยากาศที่ดีให้แก่มหาวิทยาลัย ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการจัดการเรียน การสอน รวมถึงการจัดให้บริการยานพาหนะ การต่อทะเบียนรถทุกประเภทของมหาวิทยาลัย การชำระภาษี และค่าประกันภัยรถยนต์ การออกแบบ เขียนแบบ ควบคุมการก่อสร้าง นอกจากนี้ ได้จัดให้มีมาตรการในการรักษาความปลอดภัย ระบบจราจร และอัคคีภัย ที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย มาตรการการประหยัดพลังงาน และดำเนินการประชาสัมพันธ์ ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย และมีส่วนรับผิดชอบในการสนับสนุนงานการบริการแก่ชุมชนอีกด้วย ส่วนหน่วยงานที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกองอาคารสถานที่ แบ่งออกเป็น 8 งาน ได้แก่ งานบริหารงานทั่วไป งานผังแม่บท งานอาคารสถานที่ งานยานพาหนะ งานสาธารณูปโภค งานสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ งานอนุรักษ์พลังงาน งานรักษาความปลอดภัย.
กองอาคารสถานที่ เริ่มมาจากแผนกสวัสดิการ และแผนกยานพาหนะ สังกัดฝ่ายอำนวยการ วิทยาลัยครูเชียงราย ในปี 2516 ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีโดยได้รับการอนุมัติให้กรมการฝึกหัดครู จัดตั้งวิทยาลัยครูเชียงราย เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2516 แผนกสวัสดิการ ทำหน้าที่ซ่อมแซม บำรุงรักษาอาคารและสถานที่ ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ และแผนกยานพาหนะ มีหน้าที่ให้บริการด้านยานพาหนะ.
ในปี 2520 มีพระราชกฤษฎีกา ประกาศยกฐานะวิทยาลัยครูเชียงราย เป็นวิทยาลัยครู ตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 เป็นสถาบันการศึกษาและวิจัย สามารถเปิดสอนได้ถึงระดับปริญญา จัดการอบรมครูประจำการ บริการทางวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม โดยมีการปรับโครงสร้างการบริหารงานจากฝ่ายอำนวยการ เป็นสำนักงานอธิการ ทำให้แผนกสวัสดิการและแผนกยานพาหนะ ได้ปรับเป็นฝ่ายสวัสดิการ และฝ่ายยานพาหนะ.
ต่อมาในปี 2528 ได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการ แบ่งส่วนราชการในวิทยาลัยครูเชียงราย ให้สอดคล้องกับภารกิจของวิทยาลัยครู ตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2527 กำหนดให้วิทยาลัยครูกลุ่มภาคเหนือรวมกลุ่มเป็นสหวิทยาลัยล้านนา ประกอบด้วยวิทยาลัยครูเชียงราย วิทยาลัยครูเชียงใหม่ วิทยาลัยครูลำปาง และวิทยาลัยครูอุตรดิตถ์ ซึ่งการบริหารจัดการในสำนักงานอธิการ ได้แยกออกเป็นฝ่ายเหมือนเดิม.
ในปี พ.ศ. 2535 วิทยาลัยครู ได้มีการปรับเปลี่ยนภารกิจให้สอดคล้องกับความหลากหลาย ในการผลิตบัณฑิตของวิทยาลัยครู พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณา โปรดเกล้าพระราชทานนาม จาก“วิทยาลัยครู” เป็น“สถาบันราชภัฏ” เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2535 ได้เปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงาน จาก “สำนักงานอธิการ” เป็น “สำนักงานอธิการบดี” มีผลให้ฝ่ายสวัสดิการ ปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์พัฒนาภูมิทัศน์ โดยฝ่ายยานพาหนะยังคงเดิม.
ต่อมาในปี 2547 ได้มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. 2547 “สถาบันราชภัฏเชียงราย “ ได้ปรับเปลี่ยนเป็น “มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย” มีฐานะเป็นนิติบุคคล จึงได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจัดการในสำนักงานอธิการบดี ตามความเห็นชอบของสภาประจำมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยได้ประกาศกำหนดโครงสร้างภายในให้ โดยยุบรวมศูนย์พัฒนาภูมิทัศน์ กับฝ่ายยานพาหนะ รวมเป็น “กองอาคารสถานที่และยานพาหนะ” ในปี 2548 ซึ่งมีหน่วยงานในกำกับดูแล จำนวน 5 งาน ประกอบด้วย งานบริหารทั่วไป งานผังแม่บท งานอาคาร งานสถานที่ และงานยานพาหนะ.
และได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัยเมื่อคราวประชุมครั้งที่ 8/2551 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2551 ให้มีฐานะระดับกอง เป็นกองอาคารสถานที่ อยู่ในโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการ สังกัดสำนักงานอธิการบดี มีการแบ่งงานภายใน ประกอบด้วย 4 งาน คือ งานบริหารทั่วไป งานอาคาร งานสถานที่ และงานยานพาหนะ.
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
ต่อมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ได้มีการปรับการแบ่งหน่วยงานภายใน เพื่อให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีระสิทธิภาพ กองอาคารสถานที่ จึงประกอบด้วยงานภายใน ดังนี้ งานบริหารงานทั่วไป งานอาคารสถานที่ งานผังแม่บทและภูมิสถาปัตยกรรม งานรักษาความปลอดภัยและงานจราจร งานสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ งานยานพาหนะ งานสาธารณูปโภค งานอนุรักษ์พลังงาน.
ต่อมาในปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ได้มีการปรับโครงสร้างผังการดำเนินงานภายใน เพื่อให้การบริหารและจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กองอาคารสถานที่ จึงมีหน่วยงานภายใน ดังนี้
1.งานบริหารสำนักงาน
2.งานวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม
3.งานระบบและอนุรักษ์พลังงาน
4.งานพัฒนาภูมิทัศน์และจัดสถานที่
5.งานสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์
บุคลากรมืออาชีพพร้อมบริการ สภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกเหมาะสม ทันต่อเหตุการณ์ และบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
1. ด้านการพัฒนาสภาพแวดล้อม ภูมิทัศน์ ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความสวยงาม
2. ด้านการบำรุงรักษาอาคาร สถานที่ ระบบสาธรณูปโภค ระบบสุขาภิบาล
3. ด้านงานผังแม่บทและภูมิสถาปัตยกรรม
4. ด้านการให้บริการจัดเตรียมสถานที่
5. ด้านการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ